กฎการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ
ตลาดคาร์บอนเครดิต
ความตกลงปารีสข้อที่ 6 (Article 6) กำหนดเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือระหว่างรัฐภาคี (Cooperative implementation) "โดยความสมัครใจ"
มีวัตถุประสงค์เพื่อ :
1. ยกระดับความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก (Higher ambition)
- ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกโดยใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
- เข้าถึงแหล่งทุน การลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจก
2. ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development)
- ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในมิติต่าง ๆ
- สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
3. เสริมสร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจก (Environmental integrity)
- ผลการลดก๊าซเรือนกระจกมีความน่าเชื่อถือ ผ่านระเบียบวิธีการและการกำกับดูแลที่โปร่งใสและเข้มงวด
- หลีกเลี่ยงการนับผลการลดก๊าซเรือนกระจกซ้ำ
ซึ่งรวมถึงการนำกลไกตลาดระหว่างประเทศ มาใช้สนับสนุนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally determined contributions: NDCs) โดยการอนุญาตให้มีการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (Internationally transferred mitigation outcomes: ITMOs)
ข้อที่ 6.2 (Article 6.2) : แนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศ (Cooperative approaches) และการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (ITMOs)
ข้อที่ 6.4 (Article 6.4) : พัฒนากลไกพหุภาคี (Multilateral mechanism) ขึ้นมาใหม่แทนที่กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean development mechanism: CDM) ซึ่งบริหารจัดการโดยคณะกรรมการกำกับดูแล (The supervisory body: SB) จาก UNFCCC
ขณะที่ กลไกตลาดระหว่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) หรือ เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในระดับองค์กร (Business to Business) นั้น สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม หากผู้ซื้อในประเทศปลายทางให้การยอมรับมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย และต้องการนำคาร์บอนเครดิตไปใช้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้ขายสามารถแจ้งยกเลิกคาร์บอนเครดิต (Cancellation) และนำส่งใบยกเลิกคาร์บอนเครดิต (Cancellation notification) ให้กับผู้ซื้อได้เลย
อ้างอิง : Cooperative Implementation, UNFCCC