หลักการและแนวคิด
ราคาคาร์บอนภายในองค์กร
ธุรกิจส่วนใหญ่มีการคำนวณต้นทุนทางตรงที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเท่านั้น แต่ไม่ได้นำต้นทุนที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการผลิตนั้น ๆ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ต้นทุนผลกระทบภายนอก (Externality cost) ในทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณต้นทุนรวมด้วย ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินกว่าระดับที่เหมาะสมสำหรับสังคมโดยรวม
ด้วยเหตุนี้ภาครัฐและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกจึงมีแนวความคิดเพื่อนำกลไกการกำหนด “ราคาคาร์บอน” มาใช้เพื่อสะท้อนต้นทุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตสินค้าและบริการให้เหมาะสม โดยอาศัยหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle)
ปัจจุบันนี้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกได้นำการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กรไปใช้อย่างแพร่หลายตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อเตรียมความพร้อมต่อนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคบังคับ ช่วยประเมินและพิจารณาการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือใช้วางแผนในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์องค์กรสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) โดย ราคาคาร์บอนภายในองค์กร แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
1. ราคาเงา (Shadow Price)
การกำหนดราคาคาร์บอนเป็น “ราคาเงา” ในการประเมินการลงทุนและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงช่วยให้องค์กรเข้าใจบริบท สถานการณ์และต้นทุน การดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถตอบรับและปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าการนำราคาเงาไปใช้นั้น จะไม่ได้ทำให้องค์กรมีรายจ่ายจริงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือรายได้เพิ่มจริงจากการลดก๊าซเรือนกระจก แต่การนำข้อมูลผลการประเมินที่ได้ไปประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจลงทุนจริงจะทำให้การบริหารความเสี่ยงขององค์กรมีความครอบคลุมมากขึ้น
2. การเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร (Internal Carbon Fee)
การนำราคาคาร์บอนไปใช้ภายในองค์กรในลักษณะเดียวกับภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เพียงแต่เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ภายในองค์กรเท่านั้น การกำหนดราคาคาร์บอนรูปแบบนี้จะมีการจ่ายเงินเกิดขึ้นจริง โดยองค์กรสามารถนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปใช้หมุนเวียนสนับสนุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้
3. ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร (Internal trading system)
เป็นรูปแบบการนำราคาคาร์บอนไปใช้ภายในองค์กรในลักษณะเดียวกับระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading System หรือ Cap-and-Trade) เพียงแต่เป็นการกำหนดสิทธิซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อใช้ภายในองค์กรเท่านั้น โดยการตั้งเป้าหมายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรต้องการลด และกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่แผนกหรือบริษัทในเครือ หากแผนกหรือบริษัทในเครือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเป้าหมายที่ได้รับจัดสรร ก็สามารถทำการซื้อขายสิทธิระหว่างแผนกหรือระหว่างบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกัน หรือซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offset) หรือจ่ายค่าธรรมเนียมมาที่องค์กรส่วนกลางที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบ Internal Trading System
4. การคำนวณย้อนกลับ (Implicit Carbon Price)
เป็นราคาที่กำหนดจากงบลงทุนที่องค์กรใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น งบประมาณที่ใช้ในการทำกิจกรรม Corporate Social Responsibility (CSR) เงินที่ใช้ในการลงทุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน หรือโครงการปลูกป่า เป็นต้น มาคำนวณเพื่อดูว่าในอดีตบริษัทมีการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนเงินเท่าใด และนำราคาดังกล่าวมาใช้อ้างอิงเป็นการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กรเพื่อพิจารณาการลงทุนและกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทในอนาคต แต่เนื่องจากรูปแบบนี้เป็นการนำกิจกรรมในอดีตมาคำนวณ ดังนั้น จะไม่ช่วยกระตุ้นหรือสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรมากนัก
สำหรับแนวทางการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กรนั้นในทางปฏิบัติแล้วองค์กรจะเลือกกำหนดใช้ราคาคาร์บอนภายในองค์กรเท่าใดก็ได้เพราะเป็นการกำหนดราคาและนำไปใช้โดยสมัครใจ โดยแนวทางกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กรสามารถดำเนินการได้หลายลักษณะ เช่น ราคาแบบเดียว (Uniform Price) กำหนดราคาคาร์บอนเพียงราคาเดียวสำหรับใช้ทั้งองค์กร, ราคาต่างกัน (Differentiated Price) กำหนดราคาคาร์บอนแตกต่างกันตามลักษณะธุรกิจ, ราคาคงที่ (Static Price) ราคาคาร์บอนคงที่ตลอดเวลา หรือ ราคายืดหยุ่น (Evolving Price) ราคาคาร์บอนมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามช่วงเวลา
อย่างไรก็ตาม จากการที่องค์กรแต่ละแห่งมีแนวทางและวัตถุประสงค์การดำเนินงาน กลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน องค์กรแต่ละแห่งควรจะต้องมีการพิจารณาเลือกใช้รูปแบบการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กรและลักษณะดำเนินการที่เหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจประเภทต่าง ๆ ในบริบทของตนเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด