ราคาคาร์บอนภายในองค์กร

ราคาคาร์บอนภายในองค์กร

ราคาคาร์บอนภายในองค์กร

ราคาคาร์บอนภายในองค์กร

Internal Carbon Pricing – ICP

ICP คืออะไร?

การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) คือ “การใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ ที่ส่งผลโดยตรงให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่าย” (ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว, 2562) หรือเครื่องมือในการประเมินต้นทุนภายนอก (External Costs) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นทุนที่สังคมต้องจ่ายจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าความเสียหายจากภัยพิบัติ เป็นต้น โดยทั่วไปราคาคาร์บอนจะอยู่ในรูปของราคาต่อหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์ รูปด้านล่างแสดงสถิติการประยุกต์ใช้กลไกราคาคาร์บอนทั่วโลก และประโยชน์ของการนำราคาคาร์บอนไปใช้

การกำหนดราคาคาร์บอน แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ดังรูป คือ ราคาคาร์บอนภายนอก (External Carbon Pricing) ที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ ภาษีคาร์บอน กลไกการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ETS การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Result-Based Climate Finance

สำหรับการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร หรือในภาษาอังกฤษ คือ Internal Carbon Pricing ที่เรียกย่อๆ ว่า ICP เป็นการกำหนดมูลค่า (Value) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นตัวเงิน (Monetary Value) ในหน่วยของมูลค่าทางการเงินต่อหน่วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น USD/tCO2e หรือ บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นต้น

>> ขั้นตอนการกำหนด ICP ขององค์กร มี 4 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 ประเมินและทำความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขต (Scope) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร รวมทั้งนโยบาย กลยุทธ์ และเป้าหมายขององค์กรเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จากนั้นจึงกำหนดวัตถุประสงค์ที่จะนำ ICP ไปประยุกต์ใช้

ขั้นตอนที่ 2 ออกแบบและคัดเลือกวิธีการกำหนด ICP ที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด

ขั้นตอนที่ 3 นำ ICP ไปประยุกต์ใช้

ขั้นตอนที่ 4 ติดตาม รายงาน และประเมินผลการประยุกต์ใช้ ICP อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การใช้ ICP ต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้

>> วิธีการกำหนด ICP

1. Implicit Carbon Price

Implicit Price เป็นราคาที่กำหนดจากจำนวนเงินที่องค์กรใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น งบประมาณที่ใช้ในการทำกิจกรรม CSR เงินที่ใช้ในการลงทุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน หรือโครงการปลูกป่า เป็นต้น

ข้อดี ทำให้ทราบต้นทุนที่แท้จริง และสามารถประเมินจากต้นทุนจริงในการดำเนินโครงการ

ข้อจำกัด อาจไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นได้

2. Shadow Price

Shadow Price หรือราคาเงา เป็นการตั้งสมมุติฐานของราคาก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยขององค์กร หรือราคาของก๊าซเรือนกระจกที่ต้องการลด ซึ่งเป็นการทำนายต้นทุนในอนาคตที่ใช้เพื่อการตัดสินใจในการลงทุน

ข้อดี สามารถกำหนดได้ง่าย ช่วยเตรียมการเพื่อรองรับกฎหมายหรือกฎระเบียบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร

ข้อจำกัด เป็นราคาที่เกิดจากการตั้งสมมุติฐาน และประโยชน์ที่จะได้รับจากการกำหนดราคาจะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

3. Internal Carbon Fee

Internal Carbon Fee คือ การกำหนดและจัดเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละหน่วยธุรกิจในองค์กร

ข้อดี องค์กรสามารถนำค่าธรรมเนียมที่เก็บรวบรวมได้ไปลงทุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้ และสามารถกระตุ้นให้หน่วยธุรกิจเกิดความตระหนักและเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ข้อจำกัด อาจมีการตั้งค่าธรรมเนียมที่ต่ำเกินไป และทำให้เกิดต้นทุนแก่หน่วยธุรกิจ

4. Internal Trading System

Internal Trading System มีลักษณะเป็นการดำเนินกลไก ETS ภายในองค์กร โดยมีการกำหนดสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่หน่วยธุรกิจต่างๆ ขององค์กร และมีการซื้อขายใบอนุญาตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างหน่วยธุรกิจ

ข้อดี ทำให้เกิดตลาดภายในองค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ

ข้อจำกัด มีความยุ่งยากซับซ้อนในด้านการบริหาร และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุปทานส่วนเกินของคาร์บอนเครดิต

>> ประโยชน์ของการนำ ICP มาใช้ในองค์กรหรือธุรกิจ

• ช่วยในการประเมินความเสี่ยงขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Risks)

• ช่วยในการตัดสินใจลงทุนในโครงการใหม่ๆ หรือการลงทุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ

• ช่วยสนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

• เตรียมความพร้อมให้แก่องค์กรในการรับมือกับกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ภาษีคาร์บอน หรือ ETS เป็นต้น

• เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ หรือคาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างเหมาะสม

• เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy or Green Economy) ในอนาคต

• เป็นการแสดงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่มีโครงการหรือการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะสามารถแสดงมูลค่าของก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ในรูปแบบที่เป็นตัวเงิน

CopyRight © 2012 - 2023 Carbon Market All Rights