Carbon Disclosure Project

ความร่วมมือกับต่างประเทศ

คืออะไร

Carbon Disclosure Project (CDP) คือ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งในปี 2000 โดยเป็นผู้สร้างระบบตรวจวัดรายงาน และเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นมาตรฐาน สำหรับองค์กร หรือเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งใช้เป็นแรงจูงใจทางการตลาดเพื่อผลักดันให้บริษัทต่างๆ เปิดเผยข้อมูลของตนเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมาตรการเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ปัจจุบัน มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลผ่าน CDP แล้วกว่า 1 พันองค์กร ซึ่งคิดเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงของโลกประมาณ 12%

ภาพที่ 1 จำนวนองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลผ่าน CDP ทั่วโลก


หมายเหตุ:จำนวนจุดสะท้อนจำนวนบริษัท ขนาดของจุดสะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มา CDP,2020

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่าน CDP มีสถาบันการลงทุน (Institutional investor signatories) กว่า 650 แห่ง (ซึ่งมีจำนวนสินทรัพย์กว่า 87 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ต้องการพิจารณาเพื่อประกอบการจัดสินใจลงทุน

รูปที่ 2 การทำงานของ CDP


ที่มา CDP,2020

ทั้งนี้ CDP มีการประเมินผลการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ Climate Change และ Water Security และ Forest ทั้งนี้ จะเห็นว่า รูปแบบการเปิดเผยข้อมูลด้าน Climate Change เป็นที่นิยมมากที่สุด ถึงกว่า ร้อยละ 90 ของการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อ CDP

รูปที่ 3 จำนวนองค์การที่เปิดเผยข้อมูลผ่าน CDP ในรูปแบบต่าง


ที่มา CDP,2020

สำหรับ วิธีการให้คะแนนของ CDP แบ่งออกเป็น ทั้งหมด 4 ระดับ ดังนี้
D = Disclosure ยินยอมเปิดเผยข้อมูล
C = Awareness มีความตระหนักและสามารถประเมินผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงของบริษัทจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
B = Management มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี (good environmental management)
A = Leadership มีความเข้าใจเกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างดีและมีกลยุทธ์ในการรับมือที่เหมาะสม รวมถึงมีแผนการดำเนินงานและเป้าหมายเกี่ยวกับการรายงาน GHG และการลดการปล่อย GHG

รูปที่ 4 รูปแบบการให้คะแนนของ CDP


ที่มา CDP,2020

โดยวิธีการให้คะแนนจะเริ่มจากประเมินในระดับ disclosure ก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 80 จึงจะเริ่มประเมินในระดับ Disclosure Awareness และ Management ต่อไป
+ คะแนนระหว่าง 0-44 จะได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับติดลบที่กลุ่ม D-, C-, B-
+ คะแนนระหว่าง 45-79 จะได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับ D, C, B
+ คะแนนตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป จะได้รับการประเมินในระดับถัดไป
+ สำหรับระดับ Leadership หากได้ 0-79 คะแนน จะอยู่ในกลุ่ม A- และ 80-100 คะแนน จะอยู่ในกลุ่ม A

สำหรับ แบบสอบถามด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถดูได้ที่ CDP Climate Change Questionnaire 2020
สำหรับ ระเบียบวิธีการในการให้คะแนนสามารถดูได้ที่ CDP climate change methodology 2020

ประโยชน์ในการเปิดเผยข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

1. ทำให้องค์การทราบว่ากิจกรรมใดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้น บริษัทจะได้วางแผนบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกให้เหมาะสม

2. ผลักดันให้เกิดการประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อวางแผนรับมือต่อความเสี่ยงนั้น

3. เชื่อมโยงบริษัทในห่วงโซ่อุปทานให้มีเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน

4. เชื่อมโยงบริษัทกับนักลงทุนที่มีความต้องการเดียวกัน ในการจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจหากต้องการรายงานข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

1. ศึกษาแบบสอบถาม แนวทางในการตอบแบบสอบถาม และตรวจสอบคะแนนในคำถามแต่ละข้อ

2. เตรียมข้อมูลเพื่อตอบคำถาม เช่น
• ข้อมูลเพื่อการประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบด้าน climate change และแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับความเสี่ยง
• ข้อมูลเพื่อการประเมินโอกาสด้าน climate change และแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับโอกาส
• ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในแต่ละกิจกรรม รวมถึงระบุกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้เหมาะสม
• แผนและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
• แนวทางในการทวนสอบ

3. ศึกษาแนวโน้มด้าน climate change ของโลก อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับแผนของบริษัทให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการนำเสนอข้อมูลอยู่เสมอ

ท่านสามารถ ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับ โครงการ Carbon Disclosure Project (CDP) เพิ่มเติมได้ที่ https://www.cdp.net/en

CopyRight © 2012 - 2021 Carbon Market All Rights