ความร่วมมือกับมูลนิธิ Zukunft des Kohlenstoffmarktes สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ความร่วมมือกับต่างประเทศ
ความร่วมมือกับมูลนิธิ Zukunft des Kohlenstoffmarktes สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
เพื่อสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามร่าง “Terms and Conditions regarding the support of the Thailand Low Carbon Cities Programme through cancellation of TVERs” มีสาระสำคัญ โดยสรุปดังนี้
๑. ขอบเขตการให้การสนับสนุน
กิจกรรมที่เข้าข่ายที่จะได้รับการสนับสนุนภายใต้ความร่วมมือฉบับนี้ จะต้องเข้าลักษณะดังนี้
          ๑.๑ เป็นกิจกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction) หรือ T-VER ซึ่งพัฒนาและกำกับดูแลโดย อบก.
          ๑.๒ เป็นโครงการ T-VER ที่ระบุไว้ในภาคผนวกที่ ๒ ของเอกสารความร่วมมือ (Appendix 2: Programme Details) ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีจำนวน ๑๗ โครงการ โดยอาจเพิ่ม หรือ ลดได้ ด้วยการปรับแก้ภาคผนวกที่ ๒ โดยความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรและลงนามโดย อบก. และมูลนิธิฯ
ทั้งนี้ จำนวนเงินสนับสนุนที่มูลนิธิฯ จะให้นั้น จะขึ้นกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองจากโครงการ ซึ่งจะต้องเกิดการลดก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๗) และก่อนปี ค.ศ. ๒๐๒๑ (พ.ศ. ๒๕๖๔) เท่านั้น

 ๒. บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย

          ๒.๑ บทบาทหน้าที่ของอบก.
               (๑) อบก. ต้องบริหารจัดการและดำเนินงานโครงการความร่วมมือสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทย โดยเฉพาะ กฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสาธารณะ และดำเนินการตามขั้นตอนที่สมเหตุสมผลเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการ T-VER และผู้พัฒนาโครงการแต่ละราย ดำเนินการสอดคล้องกับกฎหมายด้วยเช่นกัน รวมทั้ง มั่นใจว่าโครงการ T-VER แต่ละโครงการ มีการดำเนินงานสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดในภาคผนวกที่ ๓
               (๒) เพื่อรับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิฯ อบก. จะต้องส่งมอบหลักฐานยืนยันการยกเลิกปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง หรือ ที่เรียกว่า “TVERs” ซึ่งเกิดจากโครงการ T-VER โดยทำการยกเลิกในระบบทะเบียนของโครงการ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับเงินสนับสนุนไปอ้างสิทธิ หรือ ใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นใดในลักษณะที่จะเกิดการนับผลการลดก๊าซเรือนกระจกซ้ำซ้อน ซึ่งจะขัดกับหลักการสากล
               (๓) อบก. มีหน้าที่ส่งมอบเอกสาร “Fulfillment Documents” จำนวนสองครั้ง ต่อ หนึ่งปีปฏิทิน (ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน และ ๓๑ ธันวาคม ตามลำดับ) ประกอบด้วย เอกสารแจ้งการยกเลิก TVERs ในระบบทะเบียน รายงานความคืบหน้าโครงการล่าสุด และ เอกสารขอรับเงินสนับสนุนจากการยกเลิก TVERs ในระบบทะเบียน
               (๔) อบก. จะดำเนินการให้มั่นใจว่าเงินสนับสนุนที่ได้รับ นำไปใช้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามขอบเขตที่กำหนดไว้ในเอกสารความร่วมมือ
          ๒.๒ บทบาทหน้าที่ของมูลนิธิฯ
               (๑) มูลนิธิฯ ตกลงที่จะให้เงินสนับสนุน จำนวน ๘ ยูโร ต่อหนึ่งหน่วย TVER ที่ได้ยกเลิกในระบบทะเบียน โดยกำหนดจำนวน TVERs ที่จะได้รับการสนับสนุน ไม่เกิน ๒๒๕,๐๐๐ หน่วย
               (๒) มูลนิธิฯ ต้องส่งมอบเงินสนับสนุนให้แก่ อบก. ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ได้รับและเห็นชอบเอกสาร “Fulfillment Documents” ที่นำส่งโดย อบก.
          ๒.๓ บทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถื่นที่เข้าร่วม
          เมื่อ อบก. และมูลนิธิฯ ได้ลงนามในเอกสาร “Terms and Conditions regarding the support of the Thailand Low Carbon Cities Programme through cancellation of TVERs” แล้ว 
อบก. จะต้องพัฒนาและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมแต่ละแห่ง เพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือนี้ โดยบทบาทหน้าที่หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องระบุในบันทึกความร่วมมือฯ ได้แก่
              (๑) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินโครงการ T-VER ตามขั้นตอนและระเบียบวิธีการของโครงการ T-VER ที่พัฒนาและกำหนดโดย อบก. และดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายของไทย โดยเฉพาะ ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
              (๒) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะแจ้งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองจากโครงการ T-VER  ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสงค์จะยกเลิกเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านการเงินจากมูลนิธิ ในอัตรา ๘ (แปด) ยูโร ต่อหนึ่งหน่วยของ TVERs ไปยัง อบก. ภายในวันที่ ๑๕ มิถุนายน และ ๑๕ ธันวาคม ของทุกปี
              (๓) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ผ่านมาทาง อบก. (ในจำนวนที่เท่ากับ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอยกเลิก คูณด้วย ๘ ยูโรต่อตัน) โดย อบก. จะส่งมอบเงินสนับสนุนดังกล่าวให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ดำเนินโครงการ
              (๔) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดทำรายงานติดตามการดำเนินงานโครงการ ซึ่งรวมทั้ง รายละเอียดการใช้จ่ายเงินสนับสนุนที่ได้รับจากมูลนิธิฯ ตามแบบฟอร์มที่พัฒนาร่วมกัน และแจ้งให้ อบก. ทราบภายในวันที่ ๑๕ มิถุนายน และ ๑๕ ธันวาคม ของทุกปี  โดยเงินสนับสนุนที่ได้รับจะนำไปใช้ในการดำเนินการเฉพาะตามขอบเขตที่กำหนดไว้ในเอกสารความร่วมมือเท่านั้น กล่าวคือ นำไปใช้เพื่อการบำรุงรักษาและพัฒนาโครงการความร่วมมือต่อไป รวมถึง การสนับสนุนโครงการ T-VER (อาทิ ในการออกแบบโครงการ ดำเนินงาน และบำรุงรักษา) ไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมดของโครงการ และสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ ขององค์กร เกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้ง มาตรการส่งเสริม อาทิ การเสริมสร้างขีดความสามารถและการสร้างความตระหนักรู้ หรือ อื่นใดตามที่จะตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกับ อบก. และมูลนิธิฯ

 

๓. กระบวนการขั้นตอน
กระบวนการขั้นตอนในการรับเงินสนับสนุน และรายงานผลการนำเงินที่ได้รับไปใช้ มีรายละเอียดในเบื้องต้น ดังนี้

CopyRight © 2012 - 2021 Carbon Market All Rights