โครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน

เศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร

โครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน

1) บทนำ

ประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ฐานทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัดและลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีความเสี่ยงที่จะหมดลงในอนาคตอันใกล้ มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนประมาณ 8 พันล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2030 และมากกว่า 9 พันล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2050 ทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาคือการแย่งชิงที่ดิน น้ำ และพลังงานจะทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะมีแนวโน้มที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยตามมา ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่ใช้ในปัจจุบันส่วนมาก เป็นแบบที่ใช้แล้วหมดไป (Non-renewable) และมีอยู่อย่างจำกัด ความพยายามในการแสวงหาแหล่งทรัพยากรทดแทนในส่วนที่ใช้หมดไป ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้ว่าของเสียหรือขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากการบริโภคบางส่วนสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ แต่ส่วนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ยังไม่ได้รับการกำจัดหรือบำบัดอย่างถูกวิธี จึงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมในระยะยาว

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นับเป็นทางเลือกใหม่ที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ความยั่งยืนเป็นที่ยอมรับและมีการขับเคลื่อนทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจทั่วโลก ภาคธุรกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มหันมาใช้นโยบายดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนวัฏจักรทางธุรกิจของตนให้หมุนเวียนด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด และเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะเข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่เป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่อยู่บนพื้นฐานของการ “รับมา (take) ทำ (make) ใช้ (use) ทิ้ง (dispose)”

หลายประเทศทั่วโลกทั้งองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาล และในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับปรุงและใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของประเทศและองค์กรของตนเอง ทุกภาคส่วนสามารถได้รับประยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้นจากแนวคิดดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน1 ในขณะที่ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้ระบุว่า การมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน จะก่อให้เกิดการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเกิดการสร้างงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต นับเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว2 อีกทั้งยังสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การ

สหประชาชาติในหัวข้อที่ 8 การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Decent Work and economic growth) หัว ข้อที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่มีความรับผิดชอบ (Responsible consumption and production) หัวข้อที่ 13 การดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (Climate action) และหัวข้อที่ 15 การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก (Life on land)3

2) เศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร

เดิมระบบการผลิตและการบริโภคของโลกเป็นรูปแบบของเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) มีการสกัดเอา(take) ทรัพยากรธรรมชาติ/วัตถุดิบ มาผลิต (make) เป็นผลิตภัณฑ์ จากนั้นผู้บริโภคนำมาใช้งาน (use) และเมื่อผลิตภัณฑ์หมดสภาพการใช้งานก็จะถูกทิ้ง (dispose) เป็นขยะมูลฝอย (waste) ในที่สุด

ต่อมา เมื่อโลกเผชิญหน้ากับปัญหาขยะมูลฝอยถูกทิ้งจำนวนมากและมีการจัดการอย่างไม่ถูกวิธี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดแนวคิดในการนำผลิตภัณฑ์ที่หมดสภาพการใช้งานกลับมารีไซเคิล (recycle) ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อลดการเกิดขยะและการใช้ทรัพยากร รูปแบบเศรษฐกิจนี้เรียกว่าเศรษฐกิจรีไซเคิล (Recycling Economy) ซึ่งยังก่อให้เกิดขยะมูลฝอยจำนวนมากอยู่

อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่พึ่งพิงฐานทรัพยากรธรรมชาติทำให้เกิดการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติและการเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อม ก่อให้เกิดแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย

“เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ แนวคิดเชิงระบบในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์/บริการ และรูปแบบธุรกิจ ด้วยการจัดการผังการไหลของทรัพยากรให้เกิดการหมุนเวียนและการลดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจนนำไปสู่การไม่มีของเสีย ตลอดจนผลักดันให้ธุรกิจเติบโตทางอย่างยั่งยืน ในบริบทขององค์กร (4)”

หลักการสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และต้องใช้ศักยภาพในการหมุนเวียนเพื่อใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัสดุ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การปรับปรุงใหม่ การผลิตใหม่ การแปรใช้ใหม่ การออกแบบกระบวนการ รวมถึงการพัฒนารูปแบบธุรกิจและนวัตกรรม เป็นต้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมีการตามติดตามผลเพื่อจัดการให้ผลิตภัณฑ์และวัสดุหมุนเวียนอยู่ภายในระบบ

เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ แต่เป็นการผสมผสานแนวคิดในการบริหารจัดการธุรกิจตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 จนถึงปัจจุบัน เช่น เศรษฐกิจตามผลงาน (Performance Economy) ที่เน้นผลปฏิบัติงานมากกว่าผลิตภัณฑ์ แนวคิดการเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ (Biomimicry) มาสร้างเป็นนวัตกรรม ระบบทุนนิยมจากการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก (Natural capitalism) นิเวศอุตสาหกรรมและการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน (Industrial ecology and symbiosis) แนวคิดจากแหล่งกำเนิดถึงแหล่งกำเนิด (Cradle to cradle) การออกแบบเพื่อการปฏิรูปใหม่ (Regenerative design) และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue economy) ซึ่งเป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะลทั้งทางตรงและทางอ้อม (อ้างจาก มตช. 2-2562)

มูลนิธิเอเลน แมค อาร์เธอร์ (Ellen MacArthur Foundation: EMF) นับเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่ภาคธุรกิจ รวมถึงการผลักดันนโยบายและการขยายองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงชุมชนการศึกษาในเรื่องดังกล่าวเข้าด้วยกัน มูลนิธิเอเลน แมค อาร์เธอร์ ได้เสนอแนวคิดวัฎจักรทางชีวภาพและวัฎจักรทางเทคนิคเข้าในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (รูปที่ 2)

สำหรับวัฎจักรทางเทคนิค เป็นการจัดการสต๊อคของทรัพยากร (Stock Management) กล่าวคือวัสดุต่างๆ ที่ใช้งานได้ ไม่ควรถูกทิ้งเป็นของเสีย แต่ควรมีการจัดการ/รวบรวม ให้สามารถใช้เป็นวัตถุดิบที่ยังมีคุณค่า ไปสู่ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ และผู้ให้บริการ ผ่านการรีไซเคิล การปรับปรุงใหม่ (Refurbish) การผลิตใหม่ (Remanufacture) การใช้ซ้ำ (Reuse) การกระจายวัตถุดิบใหม่ (Redistribute) การบำรุงรักษา (Maintain) การยืดอายุ (Prolong) และการแบ่งปัน (Share) เพื่อให้เกิดการรั่วไหลไปนอกระบบให้น้อยที่สุดและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ส่วนวัฎจักรทางชีวภาพ เป็นการจัดการการไหลของทรัพยากรหมุนเวียน (Renewable flow management) ผ่านการใช้ใหม่ตามสภาพ (Cascade) การนำไปเป็นปุ๋ยในไร่นา การสกัดสารเคมีชีวภาพ (Biochemical feedstock) การหมักย่อยแบบไร้อากาศ (Anaerobic digestion) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) การสร้างทรัพยากรทดแทนให้แก่โลก (Regenerate) ทั้งนี้ สามารถจัดการให้วัสดุ/วัตถุดิบหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ได้ภายในวัฏจักรทางชีวภาพหรือวัฏจักรทางเทคนิค โดยไม่จำเป็นว่ามีกำเนิดจากที่ใด


รูปที่ 2 ภาพรวมแนวคิดวัฎจักรทางชีวภาพและวัฎจักรทางเทคนิค
(อ้างจาก Ellen MacArthur Foundation)

เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นเรื่องของการปรับวีธีคิดให้สามารถจัดการทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ทางการเงิน สิ่งแวดล้อม และสังคม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การไม่มีของเสีย และแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ

การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การใช้ทรัพยากร/วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการเกิดของเสีย การลดสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด ผลิตได้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อยลง ตลอดจนสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการอย่างมีประสิทธิผลและเหมาะสมตลอดวัฏจักรชีวิตที่ง่ายและเป็นระบบ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคและการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบจนถึงการใช้ขั้นสุดท้ายและการกำจัด

การไม่มีของเสีย เป็นการกำหนดเป้าหมาย ส่งเสริม และออกแบบระบบการผลิตและบริการให้ใช้ทรัพยากรโดยคำนึงถึงผลกระทบตลอดทั้งวัฏจักรชีวิต วัสดุและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในระบบฯ ต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ แต่ไม่สนับสนุนให้นำของเสียไปใช้เป็นพลังงาน นำไปเผาหรือฝังกลบ ในทางปฏิบัติอาจไม่สามารถนำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้กับของเสียทั้งหมดได้ ทั้งนี้ อาจมีการอ้างว่าไม่มีของเสียและหลีกเลี่ยงการนำของเสียไปฝังกลบโดยนำไปเผาเพื่อผลิตพลังงาน หรือ อาจมีการรายงานของเสียที่เกิดขึ้นไม่ครบถ้วนตลอดโซ่อุปทาน การนำหลักการไม่มีของเสียมาใช้ในบางกรณีอาจไม่สามารถช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรมากขึ้น แต่หากใช้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้

เศรษฐกิจชีวภาพ หมายถึง เศรษฐกิจซึ่งใช้ทรัพยากรที่มาจากธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล (พืชผล ป่า ปลา สัตว์ และจุลินทรีย์) ที่สามารถหมุนเวียนได้ เพื่อผลิตอาหารและพลังงาน ทรัพยากรชีวภาพสามารถนำไปใช้หรือใช้ซ้ำเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ หรือวัสดุใหม่ (เช่น กระดาษ/การ์ด) หรือคืนกลับสู่โลกของสิ่งมีชีวิตเพื่อสร้างต้นทุนธรรมชาติขึ้นใหม่ (เช่น โดยกระบวนการหมักย่อย การย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ) เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงครอบคลุมทั้งทรัพยากรหมุนเวียนและทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ในทางปฏิบัติ ทรัพยากรชีวภาพมักถูกใช้หมดเร็วกว่าระยะเวลาที่จะสามารถเกิดขี้นใหม่ และอาจไม่ถูกหมุนเวียนสู่ธรรมชาติเพื่อให้คืนสู่สภาพเดิมอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจชีวภาพที่สามารถหมุนเวียนได้จะมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานฟอสซิลและทรัพยากรอื่นที่ใช้แล้วหมดไป

3) ความสำคัญและประโยชน์ของเศรษฐกิจหมุนเวียน

เศรษฐกิจหมุนเวียน มีเป้าประสงค์เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาวและมีศักยภาพที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนสนับสนุนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลกระทบอาจที่เกิดขึ้นตามมา องค์กรสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและสร้างคุณค่าในการดำเนินธุรกิจได้จากการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในขั้นตอนดำเนินงานต่างๆ เพื่อจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และสร้างแหล่งที่มาของรายได้เพิ่มขึ้นจากโอกาสในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกค้าและการดำเนินงานที่เป็นระบบ ทำให้องค์กรมีความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากผลกระทบภายนอกและจากการหยุดชะงักได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียน ยังผลักดันให้เกิดนโยบายและกฎหมายใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการขยะ (เช่น ทางเลือกนโยบายการป้องกันที่ต้นทางหรือการนำกลับมาใช้ซ้ำ) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและดำเนินการโดยภาครัฐทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1) ประโยชน์ระดับมหภาค

1.1) ลดการพึ่งพาการหาวัตถุดิบปฐมภูมิใหม่ๆ เนื่องจากมีการหมุนเวียนวัสดุให้อยู่ในวัฏจักรทั้งในท้องถิ่นและในเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักของธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า และช่วยให้ระบบเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น

1.2) ลดปัญหาด้านวัสดุและพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และทำให้องค์กรสามารถขยายการเจริญเติบโตต่อไปยังตลาดที่เกิดใหม่ นอกจากนี้ กรณีศึกษาในสหภาพยุโรปยังชี้ให้เห็นว่ารูปแบบของการหมุนเวียนที่มากขึ้นจะมีแนวโน้มผลกระทบต่อการจ้างงานสุทธิที่เป็นบวก โดยแต่ละอุตสาหกรรมและภูมิภาคเกิดผลกระทบเชิงบวกในขอบเขตที่แตกต่างกัน

1.3) รักษาต้นทุนธรรมชาติและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลักสำคัญของรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการรักษาและฟื้นฟูสารทางชีวภาพเพื่อสร้างต้นทุนธรรมชาติให้หมุนเวียนกลับมาใหม่ และยังช่วยลดผลกระทบเชิงลบจากภายนอก จากการศึกษาต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมเมื่อเทียบกับกรณีดำเนินธุรกิจตามปกติ

2) ประโยชน์ระดับจุลภาค

2.1) ลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนสุทธิของการผลิต การได้มาและการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้ซ้ำ หรือการผลิตใหม่สามารถลดผลกระทบของวัสดุ พลังงาน หรือแรงงานได้ ในขณะที่ก่อให้เกิดการใช้งานใหม่ สำหรับทุกองค์กร การลดค่าใช้จ่ายสามารถทำไดต้ ั้งแต่ขั้นตอนการนำวัสดุเข้า (การจัดหาผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบ และวัสดุที่มีราคาถูกกว่า) และองค์กรที่อยู่ในภาคการผลิตสามารถลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตของตนเองได้ด้วย (ส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่ต่ำกว่า) จากการวิเคราะห์พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น (เช่น การถอดประกอบชิ้นส่วน และการเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานผลิตภัณฑ์)ทำให้เกิดผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจในการลงทุนเริ่มแรก

2.2) สร้างนวัตกรรมและแหล่งรายได้ใหม่ การนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้สามารถรวบรวมนวัตกรรมและการออกแบบแนวคิดใหม่ๆ ทำให้องค์กรสามารถสร้างแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น การเสนอรูปแบบการให้บริการใหม่ (การซ่อมแซม การเช่าซื้อ) การสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลพลอยได้ (เช่น จากเศษอาหารเมื่อถูกแยกออกจากสิ่งอื่นๆ) หรือการเข้าถึงตลาดใหม่ของผลิตภัณฑ์ก่อนใช้งาน หรือการผลิตใหม่ (เช่นตลาดเกิดใหม่ ผู้ให้บริการประกันภัย) ทั้งนี้ แหล่งรายได้ใหม่ดังกล่าว อาจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหรือการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม จึงควรมีการประเมินประโยชน์โดยรวมสุทธิ และควรระบุความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์ที่นำมาผลิตใหม่ (Remanufactured product) ในบางกรณีสามารถให้ส่วนต่างของกำไรดีกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงราคาเดียวกัน

2.3) ปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกค้า องค์กรมีโอกาสที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น โดยจัดให้มีโครงการรับคืนและการปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ให้บริการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาฐานลูกค้า ความภักดีต่อแบรนด์ของสินค้า และจำนวนเข้าเยี่ยมชมหน้าร้านหรือหน้าเว็บไซต์ รูปแบบการหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นสามารถปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกค้าและการทำให้ตราสินค้าเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น จะมีอายุการใช้งานที่มากขึ้นและมีคุณภาพสูงขึ้น ในขณะที่รูปแบบบริการโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นจะสามารถส่งมอบงานบริการที่สะดวกมากขึ้น (เช่นการบำรุงรักษาตามปกติ และกรณีที่เกิดการเสียหายฉุกเฉิน บุคคลที่สามจะเป็นคนจัดการ) อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกของการนำไปสู่การปฏิบัติ องค์กรอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในประเด็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชินของผู้บริโภค (เช่น การแยกผลิตภัณฑ์บางอย่างเพื่อส่งคืนผ่านโครงการรับคืนแบบมีสิ่งจูงใจ) รวมถึงการสร้างการรับรู้และยอมรับ (เช่น โครงการให้เช่าอาจถูกมองว่าเป็นการลดอิสระหรือแพงขึ้นในระยะยาว) ซึ่งต้องมีการประเมินตลาดที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถสื่อสารและส่งเสริมการตลาดได้อย่างเพียงพอ รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งาน (เช่น เพื่อลดความรู้สึกซับซ้อนของรูปแบบการบริการแบบใหม่)

2.4) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขององค์กรที่ดีขึ้นจากการลดการพึ่งพาการนำเข้าหรือจัดหาวัตถุดิบปฐมภูมิใหม่ๆ และความท้าทายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ความกดดันจากด้านอุปทานและราคาหรือความเสี่ยงทางการเมืองสังคม และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

4) การนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่การปฏิบัติ

หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การสร้างคุณค่าทางธุรกิจในระยะยาวด้วยการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนในการผลิตผลิตภัณฑ์และการให้บริการ เศรษฐกิจหมุนเวียนประกอบด้วยหลักการสำคัญ 6 ประการ (รูปที่ 3)เพื่อใช้พิจารณาความสอดคล้องของวัฒนธรรมและการดำเนินกิจกรรมขององค์กรตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนได้แก่


รูปที่ 3 หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (อ้างจาก มตช. 2-2562)

4.1 การคิดเชิงระบบ (Systems thinking)

หลักการ องค์กรควรเข้าใจถึงผลกระทบในวงกว้างที่เกิดจากกิจกรรมขององค์กร เข้าใจถึงการสร้างคุณค่าขององค์กรและความสามารถในการแทรกแซง "ระบบ" เพื่อให้องค์กรมีอิทธิพลต่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนในพอร์ตโฟลิโอของผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การระบุชิ้นส่วน ส่วนประกอบทั้งหมดและข้อมูลวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด การคิดอย่างเป็นระบบ ช่วยให้องค์กรจัดการกับความเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยระบุผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจและจากกิจกรรมต่างๆ

4.2 นวัตกรรม (Innovation)

หลักการ องค์กรควรพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนตั้งแต่การออกแบบกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์/บริการ และรูปแบบธุรกิจ

4.3 การดูแลรับผิดชอบ (Stewardship)

หลักการ องค์กรควรรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซี่งอาจรวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในโซ่อุปทานและที่ตัวลูกค้า โดยต้องคำนึงถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมทั้งในปัจจุบันและที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ในกรณีของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ องค์กรควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตั้งแต่เริ่มกระบวนการต้นน้ำ และการได้มาซึ่งวัสดุ ไปจนถึงกระบวนการปลายน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการหลังการใช้งาน

4.4 ความร่วมมือ (Collaboration)

หลักการ องค์กรควรมีความร่วมมือกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อรักษาผลประโยชน์และสร้างคุณค่าทางธุรกิจร่วมกัน ความสำเร็จของการทำงานร่วมกันนั้นเกิดจากการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ วิสัยทัศน์ และการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกัน ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

4.5 คุณค่าที่เหมาะสม (Value Optimization)

หลักการ องค์กรควรทำให้ผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัตถุดิบ เกิดคุณค่าและการใช้ประโยชน์สูงสุด ผ่านการพิจารณาปัจจัยหรือความเสี่ยงที่อาจสร้างผลกระทบหรือความสูญเสียต่อระบบในอนาคตรวมถึงการบ่งชี้โอกาสในการพัฒนาศักยภาพ เช่น การประหยัดค่าใช้จ่าย (การเข้าถึงวัสดุราคาถูก และลดต้นทุนการจัดการขยะ) หรือกระแสรายได้ใหม่ (การจัดหาผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัสดุเพิ่มเติม) หรือการลดปริมาณผลิตภัณฑ์ การขายที่ลดลง (การปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกค้า)

การเพิ่มคุณค่าของวัสดุ สามารถดำเนินการได้ 3 วีธี ได้แก่

วิธีที่ 1 วัสดุที่ถูกมองว่าเป็นของเสียทั้งจากขั้นตอนการผลิตหรือหลังการใช้งาน สามารถนำกลับไปใช้งานอื่น แต่อาจต้องปรับแต่งในกระบวนการผลิตและการออกแบบ เช่น การลดจำนวนเกรด หรือประเภทของวัสดุที่ใช้เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด

วิธีที่ 2 วัสดุที่ได้จากทรัพยากรธรรมชาติ ควรยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้ยาวขึ้นหรือใช้บ่อยครั้ง ผ่านการออกแบบหรือใช้วัสดุที่คงทนในการผลิต การพัฒนาโลจิสติกส์ย้อนกลับ และพัฒนากระบวนการให้ดีขึ้น

วิธีที่ 3 พื้นที่หรืออุปกรณ์ที่เหลืออยู่ อาจนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ภายในองค์กร หรือระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) และผู้บริโภคกับผู้บริโภค (C2C) โดยอาจมีบุคคลที่สามเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการเหล่านี้ในบางครั้ง

4.6 ความโปร่งใส (Transparency)

หลักการ องค์กรควรเปิดเผยผลการตัดสินใจและการดำ เนินกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการดำเนินการตามเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน รวมทั้งมีความมุ่งมั่นในการสื่อสารที่ชัดเจน ถูกต้อง ตรงเวลา ซื่อสัตย์ และครบถ้วน

5) กรณีศึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นทางเลือกใหม่ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่การไม่มีของเสียและมลพิษตลอดทั้งระบบสินค้าและบริการ โดยมีตัวอย่างของประเทศที่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น สหภาพยุโรป เยอรมนีเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และจีน

จากข้อมูลของกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป พบว่า ในปี ค.ศ. 2010 สหภาพยุโรปผลิตขยะมูลฝอยจำนวน 2.5 พันล้านตัน มีการนำกลับไปแปรใช้ใหม่ ร้อยละ 36 ของทั้งหมด ที่เหลือถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบหรือเผา ทั้งที่สามารถนำกลับมาแปรใช้ใหม่ได้อีกถึง 400-600 ล้านตัน ประชากรยุโรปผลิตขยะมูลฝอยโดยเฉลี่ย 5 ตันต่อคนต่อปี แต่มีการนำขยะมูลฝอยกลับมาแปรใช้ใหม่เพียง 1 ใน 3 ของขยะทั้งหมด (5) สหภาพยุโรป (EU) ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการประกาศใช้นโยบาย “2018 Circular Economy Action Package” ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายและนโยบายในการลดขยะพลาสติก การลดการฝังกลบขยะ และเพิ่มปริมาณการนำกลับมาแปรใช้ใหม่

เยอรมนี เริ่มใช้กฎหมาย The German Closed Substance Cycle and Waste Management Act เมื่อปี 1996 กล่าวคือ ประเทศจะต้องมีระบบการจัดการขยะในรูปแบบเดียวกับการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ต่อมา มีการแก้ไขเพิ่มเติมด้าน Circular Economy Policy ในช่วงปี 2000 ทำให้เยอรมนีสามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ได้ถึงร้อยละ 14 และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 200,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4 หมื่นล้านยูโร ในปี 20166 เยอรมนีเป็นประเทศที่ให้้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปี 2002 มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งตั้งเป้้าหมายในการเพิ่มผลิตภาพในการใช้้ทรัพยากรเป็็น 2 เท่่าในปี 2020 เมื่อเปรียบเทียบกับปีฐานในปี 1994 เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดไว้ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายที่่เกี่ยวข้้องกับสิ่งแวดลล้อมและอุตสาหกรรมในการสร้้างระบบเศรษฐกิจแบบครบวงจร และกำหนดนโยบายในการฟืื้้นฟูชุมชนท้องถิ่นที่ต้องรับภาระในการกำจัดของเสีย รวมไปถึงการรณรงค์์การนำวัสดุกลับมาใช้้ใหม่่

ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งเป้าหมายระยะยาวในการลดปริมาณวัตถุดิบขั้นต้น ด้วยการนำนโยบายและมาตรการรีไซเคิลให้ได้ร้อยละ 50 ในปี 2030 และรีไซเคิลวัตถุดิบทั้งหมดในปี 2050 ด้วยกลยุทธ์ในการส่งเสริมให้เกิดการออกแบบสินค้าอย่างชาญฉลาด มีการใช้วัสดุตั้งต้นน้อยลง (Smart Design: Fewer Resource) สินค้าต้องมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวขึ้น (Extend Product Life) เพื่อลดปริมาณขยะในโลก และสินค้าที่ใช้งานแล้วต้องนำกลับมาใช้ได้อีก และต้องสามารถรีไซเคิลได้ (More Better Reuse: Waste as Raw Material) ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายในปี 2023 เศรษฐกิจหมุนเวียนในเนเธอร์แลนด์จะสร้างตลาดที่มีมูลค่ามากกว่า 7.3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างงานกว่า 54,000 ตำแหน่ง โดยจะมีการกำหนดราคาสินค้าแบบ true price คือ สินค้าและบริการต้องคิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งรวมต้นทุนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เริ่มต้นจาก 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่สารอินทรีย์และอาหาร พลาสติก ภาคการผลิต การก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อปรับปรุงวิธีการจัดการกับขยะเหลือใช้ คัดแยกขยะ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำมาผลิตพลังงานทางเลือกและอื่น ๆ เพื่อการกำจัดขยะ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมนวัตกรรมในการผลิต ปรับปรุงกระบวนการรีไซเคิลให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ริเริ่มโครงการ Holland Circular Hotspot ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Circular Economy in the Netherland by 2050 โดยเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน สถาบันต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างโอกาสในการเข้าร่วมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและประสานการดำเนินงานทั่วโลก นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ริเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับถุงพลาสติก โดยร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศหันมาดำเนินมาตรการส่งเสริมการงดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน และสร้างกระแสสินค้าออร์แกนิกส์ขึ้นในภาคการบริโภคของประเทศ โดยผู้บริโภคยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (7)

ฟินแลนด์์เป็็นประเทศแรกในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ขับเคลื่อนมาตรการใช้ซ้ำ โดยจัดตั้งศูนย์์การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse Center) ซึ่งเป็็นโครงการความร่วมมือกันระหว่่างภาครัฐและเอกชน ในรูปองค์์กรที่ไม่แสวงหากำไร ที่มีจุดประสงค์์ในการจ้างกลุ่่มคนว่่างงานซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะ ไม่่จำกัดอายุ และเพศ โดยรับบริจาคสิ่งของ เสื้อผ้้าที่ไม่่ใช้้แล้้ว และนำมาซ่่อมแซมจนสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ จากนั้น นำมาวางจำหน่่ายในซูเปอร์มาร์์เก็ตสินค้้ามือสองที่ชื่อว่่า “Kierratyskeskus” ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นรูปแบบธุรกิจให้้กับอีกหลายกิจการเพื่อสังคมทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะช่่วยจัดการขยะที่ไม่่สามารถรีไซเคิลได้โดยเฉลี่ย 50 ล้้านกิโลกรัมต่อปีแล้้ว รายได้้จากการจำหน่่ายสินค้าในซูเปอร์์มาร์เก็ตยังถูกส่งกลับไปเป็นค่่าตอบแทนให้้แก่่พนักงานของศูนย์ดังกล่าวอีกทางหนึ่ง กระแสดังกล่าวได้ขยายผลไปสู่ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์์ดังมากมายและได้้รับความนิยมในสหภาพยุโรป ซึ่งนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้้ เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์์และสื่อสารกับผู้บริโภคในเรื่องความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังได้้มีการจัดงาน World Circular Economy Forum ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองเฮลซิงกิ ในช่วงวันที่ 5-7 มิถุนายน 2017 มีผู้้เข้้าร่่วมงานจากประเทศต่างๆ มากกว่่า 100 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่่วมหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางในการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันไปสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ

ในทวีปเอเชีย สาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มสนใจแนวคิด Circular Economy ในปี 1996 เพื่อใช้เป็นมาตรการในการควบคุมมลพิษ จนในปี 2008 ได้มีการประกาศใช้กฎหมาย Circular Economy Law of the People’s Republic of China แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากกำหนดเป้าหมายไม่ชัดเจน อีกทั้งขาดความร่วมมือจากประชาชน นำ ไปสู่การกำ หนด Circular Economy Development Strategy and the Recent Action Plan ในปี 2013 ที่มุ่งเน้นเรื่อง Clean Production, Eco-Industrial Park และ Eco-cities โดยรัฐบาลกลางเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชน

นอกจากประเทศต่างๆ ข้างต้นที่ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและนำไปสู่การไม่มีของเสียแล้ว ยังมีองค์กรธุรกิจและบริษัทต่างๆ นำแนวคิดนี้ไปใช้ในการดำเนินงานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

บริษัท Nike ที่ผลิตแบรนด์์สินค้าแฟชั่นและกีฬาอันดับหนึ่ง ปกติต้้องมีการใช้้ทรัพยากรจำนวนมาก Nike จึงเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้้ในขั้นตอนการผลิต โดยในปัจจุบันเสื้อผ้าและรองเท้้าของ Nike ร้อยละ 71 ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล

บริษัท Wrangler ได้นำการย้อมผ้ายีนที่เรียกว่า IndigoZERO มาใช้ วิธีการย้อมนี้พัฒนาโดย Indigo Mill Designs (IMD) บริษัทของสหรัฐอเมริกาที่เชี่ยวชาญด้านการย้้อมครามที่เป็็นมิตรต่่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการย้อมที่ไม่่ต้้องใช้้สารลดกำมะถันและลดการเกิดนํ้าเสียด้วยกระบวนการ foam dyeing ของ Gaston Systems ซึ่งวิธีการย้อมดังกล่าวเป็็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนรุปแบบธุรกิจของ Wrangler ซึ่งตั้งเป้าหมายในการลดการใช้นํ้า 5.5 พันล้้านลิตร ภายในปี 2020 และเปลี่ยนมาใช้้ไฟฟ้้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปีี 2025 (8)

บริษัท Renault ผู้ผลิตรถยนต์จากฝรั่งเศส ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของบริษัท โดยมีการพิจารณาตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มจากการออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางและเลือกใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบ เช่น กรณีรถยนต์รุ่น Escape มีส่วนประกอบเป็นพลาสติกรีไซเคิลถึงร้อยละ 20 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพัฒนากระบวนการนำวัสดุหลักที่สำคัญ เช่น ทองแดง อะลูมิเนียม และผ้า กลับมาใช้ซ้ำในการผลิตรถยนต์รุ่นต่อๆ ไป บริษัท Renault ได้ก่อตั้งบริษัทย่อยขึ้นเพื่อควบคุมการหมุนเวียนของวัสดุและจัดการขยะ โดยทำงานร่วมกับบริษัทผู้ทำลายรถยนต์เก่าในฝรั่งเศสกว่า 300 ราย เพื่อนำวัสดุที่ยังมีประโยชน์จากรถยนต์ที่ถูกทิ้งหลายแสนคันต่อปีกลับมาไปใช้ใหม่ อะไหล่ของรถยนต์มือสอง เช่น กระจกหน้า-ข้าง ชิ้นส่วนตัวถัง รวมทั้งเครื่องยนต์ เกียร์และระบบหัวฉีด จะถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ให้กลับมาใช้งานได้อีก (9)

บริษัท P&G จำกัด ออกบรรจุภัณฑ์แชมพู Head & Shoulders ที่ผลิตจากขยะพลาสติกจากชายหาดที่เก็บรวบรวมมาโดยอาสาสมัคร ก่อนส่งต่อให้โรงงานคัดแยก ทำความสะอาด และเข้าสู่โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ก่อนส่งให้ P&G ใช้เป็นวัตถุดิบในสัดส่วนร้อยละ 25 ผลิตเป็นขวดแชมพูต่อไป ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะใช้วัตถุดิบจากพลาสติกรีไซเคิลประเภทดังกล่าวกับผลิตภัณฑ์แชมพูไม่ต่ำกว่า 500 ล้านขวดต่อปี ซึ่งคิดเป็นปริมาณขยะพลาสติกที่หายไปจากชายหาดถึง 2,600 ตัน

บริษัท Unilever จำกัด ได้ประกาศเป้าหมายในปี 2017 ว่าจะใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ซ้ำได้รีไซเคิลได้ หรือ ย่อยสลายได้ทั้งหมด ภายในปี 2025 โดยเริ่มจากการใช้วัตถุดิบให้น้อยลง เช่น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่แยกส่วนได้ (modular) หาวิธีเติมซ้ำ และใช้เทคโนโลยีผสมผสานชั้นพอลิเอทิลีนแบบบางเข้ากับพอลิเมอร์เพื่อใช้กับถุงหรือซอง ทำให้ลดการใช้พลาสติกได้ 1,700 ตัน ในปี 2017 บริษัท Unilever ใช้ขวดจากพลาสติกรีไซเคิลกับสินค้าหลายประเภท เช่น น้ำสลัด น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาทำความสะอาด โดยใช้พอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) และ PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วรวมกว่า 4,850 ตันในปีที่ผ่านมา รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้หรือย่อยสลายได้ เช่น ใช้ HDPE ร้อยละ 100 กับขวดผงซักฟอกทุกแบรนด์ในตลาดชิลี และใช้สารจากพืชอย่างแป้งข้าวโพดผลิตซองชาที่ย่อยสลายได้ร้อยละ 100 ในประเทศสหราชอาณาจักร แคนาดาและอินโดนีเซีย เป็นต้น

บริษัท Philips พัฒนาต้นแบบธุรกิจจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้กับกลุ่มเป้าหมายระบบแสงสว่างตามอาคารไปจนถึงเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่อง MRI ที่ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ที่นำวัสดุรีไซเคิลมาปรับปรุงให้ได้คุณภาพสูงขึ้นพร้อมการรับประกันเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยให้บริษัท Philips รีไซเคิลวัสดุที่เคยเป็นขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจของตนได้มากถึงร้อยละ 81 และกลายเป็น “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” ของบริษัทที่สร้างรายได้ถึง 2 ใน 3 ในปัจจุบัน

บริษัท Ricoh พัฒนาต้นแบบธุรกิจจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90 โดยให้เช่าอุปกรณ์สำนักงาน เช่น เครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร ในระยะยาว จากการที่บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนเองถึงร้อยละ 60 ทำให้ Ricoh สามารถควบคุมวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ของตนได้มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งนอกจากธุรกิจการเช่าผลิตภัณฑ์แล้ว Ricoh ยังมีแผนลดการใช้วัตถุดิบปฐมภูมิที่ใช้แล้วหมดไปและหันมาใช้พลาสติกที่มีสารตั้งต้นจากพืชเพิ่มขึ้นในการผลิตเครื่องพิมพ์และเครื่องถ่ายเอกสาร รวมถึงออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีขนาดเล็กลง เบาลง มีส่วนประกอบน้อยลง และใช้โทนเนอร์ที่ผลิตจากชีวมวล (Biomass)

บริษัท ArcelorMittal ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กและเหมืองแร่จากประเทศลักเซมเบิร์ก สามารถรีไซเคิลเหล็กได้ถึง 25 ล้านตันต่อปี จากการที่บริษัทฯ กำหนดนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทจึงปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของตนให้สามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เหลือทิ้งมาใช้ผลิตเป็นเอทานอล เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์หรือผลิตพลาสติกในขั้นต่อไปได้ ประมาณการว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทถึง 300 ล้านยูโรต่อปี ภายในปี 2025 นอกจากนี้ เศษแร่ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหลอมเหล็กถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นซีเมนต์ต่อไป ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้เกือบหนึ่งล้านตันต่อปี และสร้างรายได้เพิ่มให้บริษัทฯ โดยตลาดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและบราซิล

สภานักธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) (10) คาดการณ์ว่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถสร้้างโอกาสให้แก่่ธุรกิจได้้ถึงราว 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่การจะทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายถูกนำไปใช้ในวงกว้างทุกภาคสว่ น สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความตระหนัก จิตสำนึก ทัศนคติ และความเชื่อให้กับผู้บริหารคนในองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลก

สำหรับประเทศไทย บริษัท PTTGC จำกัด (มหาชน)11 ได้ดำเนินโครงการ Upcycling SE Project ภายใต้บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (Sarn Palung Social Enterprise: SPSE) ของกลุ่ม ปตท. ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาสร้างมูลค่าจนได้เป็นสินค้าแฟชั่นและของใช้ในชีวิตประจำ วันเพื่อจัดจำ หน่ายภายใต้เครื่องหมายทางการค้า “Upcycling by GC” โดยสามารถนำขวด PET กลับมารีไซเคิลได้ประมาณ 505,000 ใบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 44.69 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบกับการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 4,965 ต้น นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในการนำวัสดุเหลือใช้ทั้งจากภายในร้านคาเฟ่อเมซอนและโรงคั่วกาแฟมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ทันสมัย ภายใต้แนวคิด “Circular Living” เช่น วัสดุตกแต่งผนังร้าน รูปนกมาคอร์ที่แปรรูปมาจากแก้วกาแฟพลาสติกโพลิโพรพิลีน โต๊ะกาแฟที่แปรรูปจากวัสดุเหลือทิ้งจากโรงคั่วกาแฟ และผ้าบุเก้าอี้นวมที่แปรรูปมาจากขยะขวดน้ำดื่ม เป็นต้นนอกจากนี้ คาเฟ่อเมซอน ยังได้เปลี่ยนมาใช้วัสดุที่สลายตัวได้ทางชีวภาพสำหรับบรรจุภัณฑ์ภายในร้าน อาทิ แก้วร้อนเป็นแก้วกระดาษเคลือบพอลิบิวทิลีนซัคซิเนต (Polybutylene Succinate: PBS) ซึ่งเป็นพลาสติกที่สลายตัวทางชีวภาพ แก้วเย็นที่ผลิตจากพลาสติกโพลีแลกติกแอซิด (Polylactic Acid: PLA) ที่ทำจากพืชทั้งหมด และหลอดพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น

1 องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน, (2562)
2 https://www.masci.or.th/iso-and-circular-economy/
3 https://www.masci.or.th/iso-and-circular-economy/
4 ปรับปรุงจากมาตรฐาน มตช. 2-2562 แนวทางการใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, (2562)
5 https://www.thaiscience.eu/uploads/journal_20160214055105-pdf.pdf
6 ปางอุบล อำนวยสิทธิ์, (2560)
7 Circular Economy : the Future We Create เรียนรู้ประสบการณ์ระดับโลก”, (2561)
8 https://www.thaitextile.org/th/insign/downloadcmssrc.preview.212.html
9 http://www.allaroundplastics.com/article/sustainability/2069

CopyRight © 2012 - 2021 Carbon Market All Rights