ตลาดคาร์บอนคืออะไร
โครงการลดก๊าซเรือนกระจก
"ตลาดคาร์บอน" (Carbon Market) หรือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้บรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกรวนที่สามารถช่วยให้การลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลงด้วยต้นทุนการลดที่ต่ำที่สุดและยังช่วยแก้ปัญหาผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Negative Externality) โดยทำให้ผู้ที่ก่อมลพิษ หรือ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีต้นทุนในปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ต้องบรรเทา หรือ ชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน ด้วยการทำให้การปล่อย หรือ การลดก๊าซเรือนกระจกมีราคา และตลาดคาร์บอนจะเป็นสื่อการในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งกลไกตลาดจะทำให้เกิดจุดดุลยภาพ (equilibrium) ทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลงด้วยต้นทุนการลดที่ต่ำที่สุดในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ ตลาดคาร์บอนสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่
1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นสืบเนื่องจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมายซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ออกกฎหมายและเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยผู้ที่เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally binding target) อย่างไรก็ดีผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษ และ/หรือ ผู้ที่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย
2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับการจัดตั้งตลาดเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในตลาดด้วยความสมัครใจโดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ (Voluntary) แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally binding target)
โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
1. การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและ
2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยไม่ผ่านตลาด
อย่างไรก็ตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจถูกกำหนดโดยผู้กำกับดูแลตลาด (Regulator) หรือเป็นการตั้งเป้าหมายโดยสมัครใจขององค์กรซึ่งปัจจุบัน การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส ตามหลักการของการตั้งเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science Based Target (SBT) นั่นเอง
นอกจากนี้ ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ยังต้องคำนึงถึงประเภทของสัญญาซื้อขาย โดยในปัจจุบันสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Emission Reduction Purchase Agreement) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า "ERPA" ในตลาดภาคบังคับ มี 2 ประเภท
1. Forward Contract: เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงที่จะส่งมอบคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งในอนาคตโดยเป็นสัญญาที่กำหนดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้า ตั้งราคาซื้อขายที่ยืดหยุ่นได้ ผู้ซื้อและผู้ขายรับความเสี่ยงร่วมกัน รับประกันรายได้ที่ได้รับล่วงหน้า มีการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคในการพัฒนาโครงการ และสามารถต่อรองราคาคาร์บอนเครดิตตามระดับความเสี่ยงได้
2. Spot Market Contract: เป็นการซื้อขายหลังจากที่ได้รับคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรอง โดยเป็นสัญญาที่กำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้รับความเสี่ยง (แต่น้อย) สามารถกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในราคาสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และราคาคาร์บอนเครดิตในขณะที่ซื้อขาย ไม่สามารถรับประกันรายได้ล่วงหน้า และไม่ต้องมีการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงการ
ประเด็นที่สำคัญใน ERPA ที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่ ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองที่ตกลงจะขาย ซึ่งผู้ขายต้องมั่นใจว่าสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จริงตามที่กำหนดในสัญญา รวมถึงการประเมินราคาคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองควรจะเป็นเท่าไร และต้องส่งมอบให้กับใคร ระยะเวลาส่งมอบและวิธีการรับเงิน คู่สัญญาฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขอการรับรองคาร์บอนเครดิตผลกระทบจากการที่ไม่สามารถส่งมอบคาร์บอนเครดิตหรือส่งมอบไม่ครบตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประเด็นเรื่องถ้อยแถลงหรือข้อความในสัญญาเพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่เกิดสถานการณ์หรือเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงการจัดให้มีกลไกและกระบวนการการเจรจาในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เป็นต้น
สืบเนื่องจาก ข้อตกลงภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2537 โดยมีประเทศสมาชิก 196 ประเทศ ร่วมลงนามให้สัตยาบัน เพื่อควบคุมความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ให้อยู่ในระดับที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศและให้เวลาแก่ระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติได้ปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ตลาดคาร์บอน เริ่มเข้ามามีบทบาทชัดเจน นำไปสู่การปฏิบัติ และขยายผลอย่างต่อเนื่องในระดับสากลทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา สืบเนื่องจากพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มภาคผนวก B (Annex B) จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนในปีพ.ศ. 2533 โดยให้มีการดำเนินงานในช่วงแรกระหว่างปี พ.ศ. 2551-2555
จากการประชุมอนุสัญญาฯที่โดฮา ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งประเทศภาคีพิธีสารเกียวโตได้ตกลงให้มีการบังคับใช้พันธกรณีต่อจากระยะแรกโดยตั้งให้เป็นพันธกรณีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556-31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ในขณะที่ประเทศนอกกลุ่มภาคผนวก B (Non-Annex) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกแต่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยภาคสมัครใจ ภายใต้กลไกที่เรียกว่า “กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)” เพื่อสนับสนุนให้ประเทศในกลุ่มภาคผนวก B (Annex B) สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่งโดยประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับประโยชน์จากการขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิตประเภท CERs – Certified Emission Reductions” ซึ่งเป็นคาร์บอนเครดิตประเภทหนึ่ง1
ผลการดำเนินงานดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการนำกลไกตลาดมาใช้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ร่วมให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโตที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่อยู่ในกลุ่มที่ถูกกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหากประเทศไทยดำเนินการลดการปล่อยก๊าซโดยดำเนินโครงการ ภายใต้กลไกที่ 3 ก็จะสามารถขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการจดทะเบียนจาก UNFCCC ให้กับประเทศอื่นหรือในตลาดคาร์บอนได้
ต่อมา ที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติสมัยที่ 21 (COP 21) ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โดยเป็นตราสารกฎหมายที่รับรองภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC ฉบับล่าสุด ต่อจากพิธีสารเกียวโต และข้อแก้ไขโดฮา เพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศที่มีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นสำหรับการมีส่วนร่วมของภาคีในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยความตกลงปารีสมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 วัตถุประสงค์หลักของความตกลงปารีส คือ เพื่อมุ่งเสริมสร้างการตอบสนองระดับโลกต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความพยายามในการขจัดความยากจน รวมถึงโดย
1. ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยคำนึงว่าการดำเนินการตามนี้ จะลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ
2. เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการสร้างภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร
3. ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและการพัฒนาให้มีภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายอุณหภูมิระยะยาวที่ได้กำหนดไว้ ภาคีตั้งเป้าที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกในระดับสูงที่สุด (Global peaking) โดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และหลังจากนั้นจะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์จากแหล่งกำเนิดและการกำจัดโดยการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้
นอกจากนี้ ความตกลงปารีสยังได้รองรับความร่วมมือโดยสมัครใจระหว่างภาคี โดยข้อ 6 ของความตกลงปารีส ระบุถึงแนวทางความร่วมมือและกลไก ในสาระสำคัญ ดังนี้
1. เมื่อภาคีเข้าร่วม บนพื้นฐานของความสมัครใจ ในแนวทางความร่วมมือที่มีการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ (Internationally transferred mitigation outcomes: ITMOs) เพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ภาคีต้องส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้มั่นใจว่ามีความน่าเชื่อถือในกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจก (Environmental integrity) และความโปร่งใส รวมถึงในการกำกับดูแล และต้องใช้การจัดทำบัญชีที่เข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่า ในบรรดาสิ่งทั้งหลาย มีการหลีกเลี่ยงการนับซ้ำ สอดคล้องกับแนวทาง (Guidance) ที่รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส
2. ให้จัดตั้งกลไกที่นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (A mechanism to contribute to the mitigation of greenhouse gas emissions and support sustainable development) ภายใต้อำนาจและแนวทางของที่ประชุมรัฐภาคีต้องรับรองกฎ รูปแบบ และกระบวนการขั้นตอน (rules, modalities and procedures) สำหรับกลไกดังกล่าว เพื่อให้ภาคีใช้บนพื้นฐานของความสมัครใจ
3. ให้กำหนดกรอบการดำเนินงานสำหรับแนวทางที่ไม่ใช้ตลาดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Framework for non-market approaches to sustainable development) ในการส่งเสริมแนวทางที่ไม่ใช้ตลาด
1วิกานดา วรรณวิเศษ สำนักวิชาการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาคาร์บอนเครดิต : ธุรกิจลดโลกร้อน (Carbon Credit : Business for Relieve Global Warming) กุมภาพันธ์ 2558
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 แม้ว่า ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมย์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่ายกระดับจะดำเนินการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทางให้การให้ “เพื่อให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวันนี้ถึงปี 2030 ลดลง ร้อยละ 40 ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายใน หรือก่อนกว่าปี 2065 ให้ได้” รวมถึง ได้นำส่งส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำให้กับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯตามความตกลงปารีสแล้วในห้วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ สหราชอาณาจักร ที่ผ่านมา
ในอดีต ประเทศไทยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจก 2 ประเภท ที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอน ได้แก่ 1) โครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต 2) โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานสากลอื่นๆ อย่างไรก็ดี ตลาดคาร์บอนในประเทศไทยยังดำเนินการในรูปแบบ “ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market)” โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ TGO ได้ริเริ่มการให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ขึ้น ในปี 2557 เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการรายเล็ก มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากโครงการดังกล่าวจะเรียกว่า เครดิต TVERs สามาถนำไปใช้ประโยชน์ในการ ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ อีเว้นท์ รวมถึง การใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว TGO จะเป็นผู้ให้การรับรองการดำเนินงานผ่านโครงการกิจกรรมชดเชยคาร์บอน หรือ Thailand Carbon Offsetting Program (T-COP) ซึ่งแบ่งการรับรองในระดับการชดเชยบางส่วน (Carbon Offset)
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ที่มีความต้องการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิต TVERs สามารถซื้อขายได้ในในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) เพื่อเลือกซื้อโครงการที่มีผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ของการลดก๊าซเรือนกระจกเช่นช่วยลดมลพิษเพิ่มความร่มรื่นและพื้นที่สีเขียวลดการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้าสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนและอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถดำเนินการเจรจาต่อรองราคากันได้โดยตรง
นอกจากนี้ TGO ได้ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้พัฒนา “Thailand Carbon Credit Exchange Platform” เพื่อใช้เป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต “หลัก” ของประเทศไทยสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐาน T-VER ที่ TGO เป็นผู้ให้คำรับรอง และทำหน้าที่เป็นผู้คุมระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต (Registry System) ซึ่ง Thailand Carbon Credit Exchange Platform เป็นวิธีการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายส่งการเสนอซื้อและเสนอขายด้วยคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น มือถือ แท็ปเล็ต เป็นต้น ผ่านเข้าไปยังระบบ Carbon Credits Exchange Platform โดยที่ระบบจะทำการเรียงลำดับและจับคู่สั่งซื้อขายให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานในต้นปี พ.ศ. 2565
ยิ่งไปกว่านั้น TGO ยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องการพัฒนาศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถทำการเชื่อมโยงระบบซื้อขายกับระบบทะเบียนของ TGO เพื่อให้เกิดตลาดกลางที่โปร่งใส ถูกต้อง เชื่อถือได้ สามารถรายงานระดับราคาที่ยุติธรรมและมุ่งพัฒนาไปสู่การซื้อขายในระดับสากล เป็นเวทีให้องค์กรผู้นำที่มีความรับผิดชอบสูงในการลดก๊าซเรือนกระจก สามารถลดต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกของตน จากการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทนการดำเนินงานด้วยตนเอง (ซึ่งอาจจะมีต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกที่สูงกว่า หรือไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนนี้ได้) ขณะที่องค์กรผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่างๆ ที่มีต้นทุนต่ำก็สามารถทำกำไรจากการขาย Credit และขยายการดำเนินโครงการของตนให้เพิ่มมากขึ้นได้ อีกด้วย
โดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติสามารถขายคาร์บอนเครดิต TVERs ได้ คือ
1. ผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER)
2. กรณีที่ไม่ได้เป็นผู้พัฒนาโครงการ จะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกของตลาด Exchange Platform ก่อน ในฐานะของนายหน้า / ผู้ค้า คือผู้ที่สามารถรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดแรก (Primary Market) เพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้ซื้อที่เปิดบัญชีในตลาดรอง (Secondary Market) โดยมีลักษณะการทำงานเป็นคล้ายกับ Broker ของตลาดหุ้นตามรูปที่ 1
รูปที่ 1 ลักษณะของตลาดคาร์บอนภายในประเทศไทย
2ภายใต้โครงการ T-COPกำหนดให้การขอการรับรองในระดับ ชดเชยบางส่วน (Carbon Offset) สามารถทำได้ เฉพาะการรับรองการชดเชยประเภทองค์กร เท่านั้น
3ภายใต้โครงการ T-COP กำหนดให้การรับรองในระดับชดเชยทั้งหมด (Carbon Neutral) ต้องชดเชยประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และ 2 หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม
ปัจจุบัน การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมีการดำเนินการผ่านโครงการชดเชยคาร์บอน หรือ Thailand Carbon Offsetting Programme (T-COP) ซึ่งพัฒนาโดย TGO โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ทำกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างอุปสงค์คาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction : T-VER) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกิจกรรมชดเชยคาร์บอน ของบุคคล องค์กร สินค้าและบริการ การจัดงานอีเว้นท์ ให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบัน
การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการ T-COP มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นทุกปี ดังแสดงในตารางที่ 1 โดยในปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกเริ่มโครงการ มีมูลค่าการซื้อขายเพียง 846,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 9,714,190 บาท ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนราคาคาร์บอนเฉลี่ยต่อตัน มีราคาเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 150 บาทต่อตัน ในช่วงเปิดตลาดซื้อขายในปีแรก ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา โดยล่าสุดราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อตัน
ตารางที่ 1 สถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ปี 2559 - 2565
ปีพ.ศ. (ตามปีงบประมาณ) |
ปริมาณการซื้อขาย (tCO2e) |
มูลค่าการซื้อขาย (บาท) |
ราคาเฉลี่ยต่อตัน (บาท) |
---|---|---|---|
2559 | 5,641 | 846,000 | 149.97 |
2560 | 33,468 | 1,006,000 | 30.06 |
2561 | 144,697 | 3,090,520 | 21.37 |
2562 | 131,028 | 3,246,980 | 24.78 |
2563 | 169,806 | 4,375,690 | 25.77 |
2564 | 286,580 | 9,714,190 | 33.90 |
2565 | 15,979 | 559,950 | 35.04 |
Total | 787,199 | 22,839,330 | 45.84 |
หมายเหตุ
- ข้อมูลจากการรับรองโครงการ T-COP ณ เดือนธันวาคม 2564
- ข้อมูลของปีงบประมาณ 2565 คือ ข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564
หากพิจารณาราคาคาร์บอนเครดิต แยกตามประเภทของโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ดังรูปที่ 2 พบว่ามีราคาที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทโครงการ โดยโครงการประเภทป่าไม้มีราคาซื้อขายสูงสุด ที่ 1,869 บาทต่อตัน (มีธุรกรรมการซื้อขายเพียง 1 ธุรกรรม) สำหรับโครงการประเภทอื่นๆ พบว่ามีราคาซื้อขายต่ำที่สุดที่ 15 บาทต่อตัน โดยเป็นโครงการประเภท CO2 Recovery และมีราคาซื้อขายสูงสุดที่ 320 บาทต่อตัน โดยเป็นโครงการประเภทการผลิตปุ๋ยหมักจากขยะชุมชน
รูปที่ 2 สถิติราคาคาร์บอนเครดิต แยกตามประเภทของโครงการ
คาดการณ์แนวโน้มความต้องการคาร์บอนเครดิตในอนาคต
ความต้องการคาร์บอนเครดิตในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions อาทิเช่น ความต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการบินของกลไก Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ดังรูปที่ 3 พบว่าในช่วงปี ค.ศ. 2020 – 2040 มีความต้องการคาร์บอนเครดิต 500 – 800 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 จะมีเงินทุนจากภาคการบินราว 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยภายใต้กลไก CORSIA
สำหรับความต้องการคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ TGO ได้รวบรวมข้อมูลจากรายงานประจำปีขององค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2020 (ที่เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) พบว่า มีองค์กร จำนวน 81 องค์กร มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 162,793,317 tCO2e/y และมีการกำหนดสมมติฐานในการคาดการณ์ ดังนี้
1. กำหนดให้ทุกองค์กร มีการตั้งเป้าหมายตาม SBTi ที่ระดับ 2 องศา
2. กำหนดให้ทุกองค์กรสามารถลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย SBTi 2 องศาได้
3. กำหนดให้ทุกองค์กร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคงที่
ผลการวิเคราะห์ พบว่าหากองค์กรต้องการที่จะเป็น Carbon Neutral Organization จะมีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยรวม 1,562,815,839 tCO
รูปที่ 3 คาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตของ CORSIA
รูปที่ 4 คาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตขององค์กรภายในประเทศ
สำหรับความต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยในภาคบริการ พบว่ามีความต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงานอีเว้นท์ ประมาณ 952,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และในภาคบริการท่องเที่ยวมีความต้องการ 1,031 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ดังรูปที่ 5
รูปที่ 5 คาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตของภาคบริการ
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคล ดังรูปที่ 6 พบว่าจะมีความต้องการ 53,478 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
รูปที่ 6 คาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อการชดเชยประเภทบุคคล
รูปที่ 7 สรุปผลการคาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมชดเชยคาร์บอนประเภทต่างๆ พบว่าจะมีความต้องการคาร์บอนเครดิตรวม ประมาณ 182 – 197 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือมีความต้องการรวมถึงปี ค.ศ. 2030 ที่ 1,823 – 1,973 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
รูปที่ 7 สรุปผลการคาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมชดเชยคาร์บอนประเภทต่างๆ