หลักการและกรอบแนวคิดของระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ระบบซื้อขายสิทธิ

สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกในวงกว้าง ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกิดตระหนัก และเข้ามามีบทบาทในการลดผลกระทบดังกล่าว โดยมีเป้าหมายที่กำหนดร่วมกันในความตกลงปารีสภายใต้กลไกของ UNFCCC ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ IPCC การลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2°C และพยายามอย่างเต็มที่ไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5°C เมื่อเทียบจากยุคก่อนอุตสาหกรรม

จากรายงาน The emission gap report ของ UNEP ในปี 2019 พบว่า ภาคีสมาชิกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ยื่นข้อเสนอในการเข้ามามีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแสดงเจตจำนงค์และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศให้บรรลุผลในช่วงปี 2020-2030 (National Determined Contribution หรือ NDC) ตามความตกลงปารีส ซึ่งจากผลการรายงาน พบว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโลกเพิ่มขึ้น ในอัตรา ร้อยละ 1.5 ต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการคงตัวในช่วง ปี 2014 ถึง 2016 แต่ในปี 2018 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งรวมภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วย เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 55.3 GtCO2e ในปี 2018 จากผลการศึกษาดังกล่าว ยังพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสาขาที่มีการใช้พลังงานสูงอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 2 คิดเป็นปริมาณการปล่อยถึง 37.5 GtCO2 ต่อปี ทำให้โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 15 GtCO2e เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีข้อเสนอในการเข้ามามีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากต้องการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2°C และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 32 GtCO2e หากต้องการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5°C ในปี 2030

ดังนั้นทุกประเทศสมาชิก ยังจำเป็นต้องดำเนินงานเพิ่มเติมผ่านกลไกของ NDCs เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รวมถึงยังต้องปรับปรุงสถานะการดำเนินงาน NDC ของประทศตนเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทุก 5 ปี และต้องเชื่อมโยงกับสถานะ Global Stock Take ของสหประชาชาติ  

การดำเนินงานต่างๆ เพื่อให้บรรลุผล NDCs ของประเทศสมาชิกเหล่านี้ ล้วนอยู่ภายใต้กรอบนโยบายและมาตรการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามศักยภาพของตน ซึ่งต้องคำนึงถึงการตัดสินใจเชิงนโยบายในระดับนานาชาติ ภูมิภาค ประเทศ ท้องถิ่น และเชื่อมโยงนโยบายในระดับต่างๆ ให้ครอบคลุมมิติทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ ความตกลงแบบทวิภาคี แผนงานริเริ่มในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น กลไกริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลด้านการลงทุน การแสดงเจตจำนงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกของ UNFCCC การขับเคลื่อนกิจกรรมชดเชยคาร์บอน ซึ่งโดยทั่วไปกรอบนโยบายด้านการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  จะเป็นกรอบนโยบายที่ประกอบด้วยเครื่องมือเชิงนโยบายและบริหารจัดการที่มีความหลากหลาย ที่ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ ได้แก่

  1. การปรับเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิง/เลิกใช้ถ่านหินหรือเชื้อเพลิงที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

  2. การจัดเก็บภาษีคาร์บอน

  3. การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน

  4. การใช้พลังงานทดแทน/พลังงานทางเลือก/พลังงานหมุนเวียน

  5. ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Emission Trading Scheme (ETS) เป็นกลไกทางการตลาดรูปแบบหนึ่ง โดยการทำงานเริ่มจาก “เจ้าของระบบ (ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ) กำหนดระดับเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปีฐาน (หรือที่เรียกว่า Cap Setting)” ให้กับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง หลังจากนั้น รัฐบาลจะ “จัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า Allowance Allocation” ให้กับโรงงาน/องค์กรต่างๆ ที่อยู่ในระบบ เพื่อจำกัดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละโรงงาน/องค์กร โดยแต่ละโรงงาน/องค์กร จะไม่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกินกว่าระดับ Cap ที่กำหนดไว้ในแต่ละปี และต้องรายงานผลการตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงาน/องค์กรที่ผ่านการทวนสอบ (หรือที่เรียกว่า Verification) ให้กับรัฐทุกปี

จากนั้น โรงงาน/องค์กรต่างๆ ต้อง “คืนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (หรือที่เรียกว่า Surrender)” ที่ได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาลตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา (ตามที่รายงานทุกสิ้นปี) ซึ่งหากโรงงาน/องค์กรต่างๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับจัดสรร ก็ต้องทำการซื้อสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงาน/องค์กรอื่นๆ ภายใต้ระบบเดียวกัน หรือมีอีกทางเลือกหนึ่ง คือ อาจซื้อคาร์บอนเครดิต จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานต่างๆ ที่ระบบ ETS นั้นๆ ยอมรับให้นำมาใช้แทนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของระบบ เพื่อเป็นการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองปล่อยเกินกว่าสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับจัดสรรมา ในทางกลับกัน หากโรงงาน/องค์กร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการจัดสรร ก็สามารถเก็บสะสม (Banking) สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้สำหรับปีถัดไปได้ หรือจะขายให้แก่ โรงงาน/องค์กรอื่นก็ได้ ทั้งนี้ การซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบ ETS จะมีระดับราคาผันแปรตามอุปสงค์และอุปทานที่มีอยู่ในตลาด จึงทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งตามปกติจะไม่มีราคา กลับมีราคา และทำให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกหรือเรียกสั้นๆ ว่า “ตลาดคาร์บอน” นั่นเอง

ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของระบบก็จะลดลงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยโรงงาน/องค์กร ก็ได้รับแรงจูงใจทางการเงินในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการใช้เทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น หรือเป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่มีต้นทุนในการลดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า ทำการลดก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศชาติก้าวไปสู่ “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ หรือ Low carbon Economy” ได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต

การซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีข้อดีคือ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุดในเงื่อนไขที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด ตอบสนองต่อความผกผันของปัจจัยทางเศรษฐกิจได้ดีกว่านโยบายอื่นๆ และสามารถสะท้อนต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริง กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก (หากเทียบกับภาษี ผู้เสียภาษีจะดำเนินการเพียงเฉพาะให้เกิดการเลี่ยงภาษีได้เท่านั้น) และช่วยให้การดำเนินธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกได้โดยไม่เกิดภาระมากเกินไป (เนื่องจากมีความยึดหยุ่นในทางเลือกสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า) แต่ก็มีข้อเสียคือ มีความผันผวนค่อนข้างสูงและคาดการณ์ราคาได้ยาก ภาครัฐมีต้นทุนในการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลเพิ่มเติม

ทั่วโลกนำระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System หรือ ETS) มาใช้เป็นกลไกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และถูกบรรจุเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายและเชิงบริหารจัดการที่สำคัญในกรอบการดำเนินงานของหลายประเทศเพื่อให้บรรลุผลการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ETS ได้รับความสนใจและนำไปสู่การปฏิบัติ คือ การที่ ETS เป็นกลไกที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และเป็นเครื่องมือที่สะท้อนให้เห็นผลสัมฤทธิ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ตลอดจนก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรจากการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อเทียบกับเครื่องมือตัวอื่นที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานขององค์กรสูงขึ้น โดยที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม

สำหรับกรอบแนวคิดเรื่องการจัดตั้งระบบ ETS ประกอบด้วยบริบทพื้นฐานสำคัญในการออกแบบ ได้แก่ การกำหนดชนิดของระบบ กำหนดประเภทของมวลสารหรือก๊าซเรือนกระจกที่ต้องการควบคุม การกำหนดชนิดและขนาดของแหล่งปล่อยที่ต้องการควบคุม การจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดการกับกลไกราคาในตลาด การกำกับดูแลตลาด การกำหนดระเบียบวิธีในการควบคุมบังคับใช้และการบริหารจัดการ

ในการออกแบบระบบ ETS นั้นจะต้องคำนึงถึง ประเด็นสำคัญต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่

  • เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ว่าเป็นแบบสัมบูรณ์ (absolute) หรือ ต่อหน่วยในรูปของความเข้มข้น (intensity) 

  • ความยืดหยุ่นของระบบในระดับที่ยอมรับได้ ส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกในเชิงเปรียบเทียบหรือไม่ สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในระบบ ภาพรวมของมาตรฐานต่างๆ ที่ใช้ควบคุม ขีดความสามาถในการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานของสาขาอุตสาหกรรมที่อยู่ในขอบข่ายการพิจารณาของระบบ

  • ขอบข่ายและขนาดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมที่ควบคุม โดยต้องพิจารณาว่าเป็น

    • upstream (fuel-based, e.g. refineries, mining companies, fuel importers) หรือ

    • downstream (actual emitters where fuels are combusted) indirect emissions (electricity use)

  • ระดับของการรายงานผล ว่าเป็นระดับ Installation หรือระดับองค์กร รวมถึงจำนวนขององค์กรที่ต้องอยู่ในระบบ ซึ่งต้องไม่มากเกินไป

  • ต้นทุนในการลดก๊าซเรือนกระจก

  • ขีดความสามารถในการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบของระบบ

  • การจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องคำนึงถึงรูปแบบการจัดสรรที่พิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ประสิทธิภาพหรือขีดความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจก การเทียบเคียงสมรรถนะ รวมถึงเงื่อนไขในการจัดสรรว่าเป็นแบบประมูลหรือให้เปล่า ผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มจากทั้ง 2 ทาง (windfall profit) สถานการณ์การแข่งขันในตลาดรวมถึงสถานการณ์ปัญหาที่แต่ละสาขาอุตสาหกรรมเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสิทธิประโยชน์ของผู้เข้าร่วมกลุ่มใหม่ในระบบ การปิดโรงงาน

  • เสถียรภาพของราคาสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการควบคุมค่าใช้จ่ายในระบบ เป็นส่วนสำคัญที่ระบบต้องควบคุมให้ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบ ETS จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะที่ราคาของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ในช่วงที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในการนำคาร์บอนเครดิตจากกลไกชดเชยคาร์บอนมาใช้ในทางปฏิบัติและการกำหนดราคาขั้นสูงและต่ำในระบบ

  • โครงสร้างพื้นฐานทางด้านกฎหมาย หรือกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริหารจัดการระบบ โดยข้อพิจารณาที่สำคัญ คือ แนวทางในการบูรณาการกฎระเบียบการบังคับใช้ระบบให้อยู่ในกฎหมายหลักและกรอบนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องเชื่อมโยงถึงการบ่งชี้เป้าหมายในการบริหารจัดการระบบและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน การจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวทางในการกำกับดูแลระบบและตลาดเพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด ระบบการตรวจวัด รายงาน ทวนสอบและขึ้นทะเบียน ตลอดจนการกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกลางหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง  

อย่างไรก็ตาม การนำระบบ ETS ไปใช้ในทางปฏิบัติ ต้องมีการประเมินนโยบายอื่นๆ ที่นำมาใช้ร่วมกับ ETS ภายใต้กรอบนโยบายเดียวกัน ทั้งก่อนและหลัง โดยก่อนการนำระบบ EST มาใช้ ต้องพิจารณาว่ามีกลไกตลาดอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ในกรอบนโยบายดังกล่าวหรือไม่ ความโปร่งใสของการจัดสรรงบประมาณและการประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกในเชิงนโยบายเป็นอย่างไร ในขณะที่หลังจากนำระบบ EST มาใช้แล้ว ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ในเชิงสิ่งแวดล้อม ความสอดคล้องและความยืดหยุ่นของตลาดพลังงานภายในประเทศ ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการใช้ระบบ ETS รวมถึงผลสืบเนื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับเครื่องมือต่างๆ ภายใต้กรอบนโยบายเดียวกันให้ทำงานร่วมกับ ETS และจัดการปัญหาเรื่องเป้าหมายและความซ้ำซ้อนในเชิงนโยบาย

โดยทั่วไป หลักการพื้นฐานในการออกแบบระบบ ETS จำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบสำคัญอย่างเป็นขั้นตอน 10 ประการ ซึ่งประกอบด้วย

  1. การกำหนดขอบข่าย (Scope) สาขาอุตสาหกรรมหรือภาคส่วนที่ต้องเข้ามาอยู่ในระบบ

  2. การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ระบบ ETS ปันส่วนมาจากเป้าหมายของประเทศที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องคำนึงถึงศักยภาพในการลด เป้าหมายการลดที่ท้าทาย และความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายในภาพรวมระดับประเทศ

  3. การจัดสรรสิทธิ์หรือสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allocation) ให้สอดคล้องกับเพดานการปล่อยที่กำหนดไว้ โดยผู้อยู่ในระบบทุกรายต้องได้รับการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม

  4. การพิจารณากิจกรรมชดเชยคาร์บอน (offsets) ให้เป็นกลไกสนับสนุนระบบ ETS โดยต้องคำนึงถึงสัดส่วนการยอมให้ใช้เครดิตชดเชยในระบบที่เหมาะสม

  5. การคำนึงถึงกรอบเวลาหรือปฎิทินในการดำเนินงานของระบบที่เหมาะสม (Temporal Flexibility) มีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการปรับตัวและเตรียมความพร้อม

  6. เสถียรภาพของตลาดการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Market Stability) โดยต้องคำนึงถึงอุปสงค์และอุปทานของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดที่ต้องมีดุลยภาพ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลาที่มีการดำเนินระบบที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อและขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดของระบบ ETS

  7. การกำกับดูแลและควบคุมการดำเนินงาน (Oversight and compliance) ให้เป็นไปตามกฏ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของระบบ ETS

  8. การสร้างกระบวนการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องกับระบบ ETS  ทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการขับเคลื่อนระบบให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง            

  9. การเชื่อมโยงตลาดการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับระบบ ETS ในภูมิภาคอื่นๆ (Linking) สืบเนื่องจากหลักการที่ว่า ขนาดของตลาดซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ต้นทุนในการลดก๊าซเรือนกระจกสืบเนื่องจากกลไกดังกล่าวต่ำลง อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความพร้อม การเทียบเคียงมาตรฐานในการตรวจวัด รายงานและทวนสอบที่สอดคล้องกัน รวมถึงประเด็นทางด้านการยอมรับ และข้อพิจารณาด้านการกีดกันทางการค้า

  10. การนำไปสู่การปฏิบัติ การประเมินผลการดำเนินงาน และการปรับปรุงพัฒนาระบบ (Implement, Evaluate, Improve) ให้มีความสมบูรณ์มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับบริบทของประเทศ

 

ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) เป็นกลไกที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ จากข้อมูลสถานการณ์ดำเนินงานของระบบ ETS ทั่วโลก รายงานว่า ภาพรวมระดับโลกเมื่อสิ้นปี 2019 พบว่า ระบบ ETS ครอบคุลมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโลก ร้อยละ 9 คิดเป็น ร้อยละ 42 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก โดย 1 ภูมิภาค (สหภาพยุโรป รวมถึงนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเกนสไตน์) 5 ประเทศ 16 รัฐ 7 เมือง  จะมีประเทศที่ดำเนินระบบ ETS เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ประเทศกำหนดไว้ ทั้งหมด 21 ระบบ

โครงสร้างและรูปแบบของตลาดซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปตามกลไกของอุปสงค์และอุปทาน โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อกลไกดังกล่าว ได้แก่ การกำหนดระเบียบข้อบังคับ การกำหนดคุณภาพของเครดิตในระบบ การกำหนดเป้าหมายและกฏการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการฝากสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจำกัดเครดิตในระบบ และการกำหนดกติกาที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกก่อนที่จะเข้าสู่ระบบ การประมูล มาตรการรักษาเสถียรภาพของตลาด ซึ่งการกำหนดกลไกที่มีความยืดหยุ่นจะทำให้ตลาดสามารถรักษาเสถียรภาพได้ดี ในขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงเป้าประสงค์และนโยบายในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยว่ามีความเข้มงวดเพียงใด และต้องการบรรลุเป้าหมายภายใต้เงื่อนไขหรือปัจจัยใดบ้าง ทั้งนี้ มาตรการรักษาเสถียรภาพของตลาด เป็นมาตรการที่จำเป็นในการกำกับทิศทางของตลาดให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและป้องกันความล้มเหลวของระบบ

การกำหนดเป้าหมายหรือเพดานการปล่อยที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้รูปแบบและกลไกในตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต้องมีความชัดเจนในการกำหนดแนวทางการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่าควรเป็นแบบยืดหยุ่นตามความเข้มข้นของการปล่อยหรือแบบเข้มงวดโดยกำหนดปริมาณการปล่อยแบบสัมบูรณ์ รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของตลาดในเรื่องการกำหนดช่วงของราคาสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดสรรแบบให้เปล่าหรือประมูล การซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงระยะเวลาในการซื้อขายและการฝากสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเคลื่อนไหวและทิศทางของตลาด และการบรรลุตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของระบบ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงราคาในตลาดมักขึ้นอยู่กับนโยบายในการดำเนินงานต่อความไม่เพียงพอของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงบรรยากาศในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและทิศทางของตลาดพลังงาน ซึ่งส่งผลต่อการซื้อขายวัตถุดิบและเชื้อเพลิงของสาขาอุตสาหกรรมที่อยู่ในระบบ

ตลาดคาร์บอนมีความแตกต่างจากตลาดซื้อขายสินค้าอื่นๆ เนื่องจากเป็นตลาดที่จำกัดการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่นำมาใช้ในการผลิต จากการกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ อุปทานของตลาดเกิดจากการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอุปสงค์ของตลาดเกิดจากข้อกำหนดในการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ของตลาดคาร์บอน มักมีความยืดหยุ่นและขึ้นอยู่กับปัจจัยจากภายนอก เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ การทับซ้อนของนโยบาย เป็นต้น

จากการที่สินค้าในตลาดคาร์บอนนั้นเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสืบเนื่องมาจากนโยบายและภาคการเมืองที่ขับเคลื่อนให้เกิดระบบ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเข้ามาจัดตั้งตลาดให้เกิดขึ้น และขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างมูลค่าในการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสะอาด เพื่อให้บรรลุผลในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมทั้งหมด ตลาดคาร์บอนนั้น จะมีการซื้อขายทั้งแบบ spot (มูลค่าของการซื้อขายทั้งหมด เป็นไปตามมูลค่า ณ วันที่มีการถ่ายโอนเครดิต) แบบ Future (สัญญาการซื้อขายแลกเปลี่ยนตามรูปแบบมาตรฐาน โดยการส่งมอบและการชำระเงินเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า) แบบ forward (การซื้อขายภายใต้ข้อตกลงที่ผู้ซื้อและผู้ขายเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งในบางครั้งอาจไม่เป็นไปตามรูปแบบมาตรฐานเหมือนการซื้อขายแบบ Future)

การเปลี่ยนแปลงระดับราคาเครดิตในตลาดคาร์บอนที่สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะบ่งชี้ถึงปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่ยังขาดอยู่เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ในขณะที่ต้นทุนในการลดก๊าซเรือนกระจก จะบ่งชี้มูลค่า      อุปสงค์ของเครดิตในตลาด โดย Marginal abatement curve จะบ่งบอกมูลค่าหรืองบประมาณที่ต้องใช้เพื่อเติมเต็มปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ขาด หรืออาจหมายถึงงบประมาณที่ต้องใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย

ในอีกแง่หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงราคาเครดิตในตลาดคาร์บอนที่มีสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินความต้องการ ส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบของการพัฒนาของตลาดพลังงานที่ส่งผลต่อมาถึงตลาดคาร์บอน ซึ่งที่ผ่านมา มีกลไกการป้องกันไม่ให้ราคาคาร์บอนเครดิต ไม่มีมูลค่าในตลาด โดยการใช้มาตรการ Backloading ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการดึงเอาเครดิตส่วนเกินออกจากระบบ แต่เป็นมาตรการระยะสั้นที่มีความเสี่ยงเนื่องจากทำให้กรอบดำเนินงานของระบบเปลี่ยนไปจากเดิม เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จึงมีการพัฒนามาตรการรักษาเสถียรภาพของตลาดมาใช้แทน

กรณีศึกษาที่น่าสนใจจากสหภาพยุโรปที่มีการกำหนดนโยบาย stability reserve-2030 package  เพื่อให้เกิดการสร้างอุปสงค์ในตลาด ในขณะที่ปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนราคาเครดิตนั้น มักขึ้นอยู่กับ ราคาพลังงาน เชื้อเพลิง สภาพภูมิอากาศ แนวโน้มหรือกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของนโยบายหรือกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินมาตรการป้องกันความเสี่ยงในการรักษาความมั่นคงทางพลังงานของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดเป้าหมายของระบบ ETS จะต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันผลกระทบจากการที่ตลาดขาดเสถียรภาพ และจะนำไปสู่ความล้มเหลวของการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกโดยใช้กลไกราคาของระบบ ETS นอกจากนี้ ยังต้องระวังกฎระเบียบทางด้านการเงินการลงทุน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่ไม่สามารถดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อเนื่องไปที่ประสิทธิภาพของระบบในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของธนาคารโลก (World Bank, State and Trends of Carbon Pricing, 2020) ในปัจจุบัน มีประเทศที่นำกลไกราคาคาร์บอน เช่น ระบบภาษีคาร์บอน และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้ หรืออยู่ในแผนการดำเนินงานมากถึง 61 แห่ง โดยแบ่งเป้นการใช้ระบบ ETS จำนวน 31 แห่ง และกรใช้ภาษีคาร์บอน 30 แห่ง ครอบคลุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกกว่า 12 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2e) หรือ ประมาณ ร้อยละ 22 ของก๊าซเรือนกระจกของโลก  สามารถก่อให้เกิดการหมุนเวียนงบประมาณที่ได้จากกลไกราคาถึง 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตต่อตันภายใต้กลไกตลาดคาร์บอนภาคบังคับนั้น อยู่ระหว่าง 1-19 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

โดยสรุป ระบบ ETS ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในชุดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ภายใต้กลไกตลาดซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมี 1) การติดตามผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและ 2) การติดตามสถานะของราคาสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาด และ 3) การได้รับการส่งเสริมสิทธิประโยชน์จากมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ระบบ ETS ไม่ใช่มาตรการเชิงเดี่ยวที่นำไปสู่ความสำเร็จในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมระดับประเทศ ต้องมีการดำเนินการร่วมกับมาตรการอื่นๆ ให้เกิดการบูรณาการและสนับสนุน โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและเรียบง่าย

CopyRight © 2012 - 2021 Carbon Market All Rights